ความรู้เรื่องสมุนไพรจีน
สมุนไพรจีน และอาหารจีนเพื่อสุขภาพ
หากพูดถึงสมุนไพร คนทั่วโลกรู้จักกันดี เนื่องจากในแต่ละท้องถิ่นของแต่ละประเทศ มีการใช้สมุนไพร มาตั้งแต่โบราณ โดยภูมิปัญญาเหล่านั้น บรรพบุรุษของแต่ละเผ่าพันธุ์ได้ลองผิดลองถูกและจดบันทึกไว้ จนลูกหลาน ยุคปัจจุบันสามารถนำมาใช้ได้อย่างมั่นใจในสรรพคุณ เช่นเดียวกันกับคนไทยที่มีตำรับยากลางบ้านที่มีส่วนผสมของสมุนไพรมากมายหลายชนิด ซึ่งบางตำรับก็ไม่ใช่สมุนไพรไทยเสียทั้งหมด ยังมีสมุนไพรจีนผสมหรือแทรกเข้ามาด้วยตำรายาจีนก็เช่นกัน อาจมีสมุนไพรไทยเข้าไปเป็นกระสายยาอยู่บ้าง ทั้งนี้เป็นเพราะสมุนไพรทั้งไทยและจีนหลายชนิด มีถิ่นกำเนิดหรือแพร่พันธุ์อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน
หากจะพูดถึงสมุนไพรจีนต้องยอมรับว่าเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราแบบไม่รู้ตัว เพราะสมุนไพรจีนบางชนิดเป็นส่วนประกอบสำคัญของอาหารที่เรากิน เช่น ขาหมูหรือพะโล้ เพราะพะโล้จะมีสมุนไพรจีนอยู่ถึง 5 ชนิดด้วยกันคือ โป๊ยกั๊ก (จันทน์แปดกลีบ) วุ่ยฮึง (เมล็ดเทียนข้าวเปลือก) เต็งฮยง (กานพลู) กุยพ้วย (อบเชย) และชวงเจีย (พริกหอม) นอกจากอาหารคาวแล้ว อาหารหวานหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมเป็นสมุนไพรจีนก็มีอยู่ไม่น้อย เช่น น้ำจับเลี้ยง น้ำเก๊กฮวยเป็นต้น
จะเห็นได้ว่าเราคุ้นเคยกับสมุนไพรจีนกันมาเนิ่นนาน แม้ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของอาหารก็ตาม ดังนั้นเราควรได้ทราบถึงที่มา ประโยชน์ และสรรพคุณ ของสมุนไพรจีนไว้บ้าง เพราะช่วยทำให้เราสามารถนำคุณค่า และสรรพคุณทั้งด้านการบำรุงและบำบัด ไปประยุกต์ใช้กับสุขภาพของตัวเองได้ หนังสือ “มหัศจรรย์สมุนไพรจีน” เล่มนี้ จะพาเราไปรู้จักกับสมุนไพรจีนที่พบเห็นได้บ่อย และหาซื้อได้ง่าย โดยจะแบ่งเป็น 3 หมวดใหญ่ๆ คือ สมุนไพรที่ให้ฤทธิ์อุ่น และร้อน สมุนไพรที่ให้ฤทธิ์เย็น และสมุนไพรที่ให้ฤทธิ์เป็นกลาง ซึ่งสมุนไพรในแต่ละหมวดจะบอกชื่อทั้งภาษาจีน และภาษาไทย (หากมี) โดยจะใช้ชื่อที่เราคุ้นเคยเป็นชื่อแรก แล้วจึงตามด้วยชื่อในภาษาอื่น นอกจากนี้ยังบอกลักษณะทั่วไป สรรพคุณ วิธีการนำไปใช้ ตลอดจนข้อควรระวังต่างๆ และในส่วนสุดท้ายจะเป็นเมนูอาหารจีนเพื่อสุขภาพ เป็นเมนูที่ปรุงเองได้ไม่ยาก มีทั้งเมนูที่ช่วยบำบัดรักษาอาการต่างๆ และเมนูที่ช่วยบำรุงร่างกาย
หยิน–หยางสมดุลในร่างกาย
ในตำราแพทย์แผนจีนโบราณซึ่งมีกำเนิดมากกว่า 5,000 ปี ได้จดบันทึกรวบรวมแนวทางหลักในการรักษา ผู้เจ็บป่วยไว้ 2 ประการคือ
แพทย์จีนได้กล่าวไว้ว่า การที่ร่างกายเกิดอาการเจ็บป่วยเป็นเพราะการเสียสมดุล เนื่องจากเชื้อโรคหรือสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง จนทำให้ร่างกายมีหยินหรือหยางมากเกินไป เมื่อร่างกายเสียสมดุลจะส่งผลให้อารมณ์ เสียสมดุลตามไปด้วย ดังนั้นการรักษาของแพทย์จีน จึงเน้นไปที่การปรับสมดุล เพราะสมดุลเปรียบเสมือนกุญแจสำคัญของการมีสุขภาพดี การปรับสมดุลของแพทย์แผนจีนมีหลายวิธี แต่วิธีที่เราคุ้นเคย และรู้จักกันดีเช่น
1. การฝังเข็ม เป็นวิธีการใช้เข็มเล่มเล็กๆ บางๆ ฝังลงไปตามจุดต่างๆของร่างกาย การฝังเข็มแบบนี้จะช่วยบำบัดอาการปวดหัวเรื้อรังแบบไม่รู้สาเหตุ ปวดไมเกรน ปวดเส้นประสาท ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดประจำเดือน ในบางรายยังช่วยรักษาภูมิแพ้ หอบหืด ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก ทำให้คลายเครียด และนอนหลับได้ดีขึ้น นอกจากนี้การฝังเข็มยังช่วยให้เลือดลมเดินดี ผิวพรรณผ่องใส ลบเลือนริ้วรอยอีกด้วย
2. การนวดกดจุด วิธีนี้จะคล้ายวิธีการฝังเข็ม แต่ใช้วิธีนวดลงบนจุดต่างๆ ซึ่งจะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้ดี บรรเทาอาการปวดหัว กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และระบบน้ำเหลือง
3. การใช้สมุนไพร ชาวจีนโบราณนั้นได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดแห่งการใช้สมุนไพรบำบัดโรค การใช้สมุนไพรของชาวจีน มีทั้งแบบที่ใช้เดี่ยวๆ เช่นการชงเป็นชา หรือการใช้สมุนไพรหลายๆ ตัวมาเข้าเป็นตำรับยา หรือใช้ประกอบอาหาร หรือดองเหล้า การใช้สมุนไพรหลายๆ ตัวมาประกอบกันก็เพื่อปรับฤทธิ์ และสรรพคุณของสมุนไพรให้สมดุล เพื่อให้ได้สรรพคุณตามต้องการ การใช้สมุนไพรเพื่อปรับสมดุลของร่างกาย นอกจากจะช่วยฟื้นฟูระบบไหลเวียนของเลือดลมแล้ว ยังช่วยปรับสภาวะร้อนหรือเย็นเกินไปของร่างกายอีกด้วย จึงอาจพูดได้ว่า สมุนไพรจีนให้สรรพคุณทั้งการบำบัด และบำรุงในขณะเดียวกัน
4. การใช้สมุนไพรปรุงร่วมกับอาหาร การปรับสมดุลโดยวิธีนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น เพราะรสชาติอาหารจะทำให้กินยาหรือสมุนไพรได้ง่ายขึ้น
สมุนไพรจีนที่มีฤทธิ์อุ่น และร้อน
สมุนไพรที่มีฤทธิ์อุ่น และร้อน จัดเป็นพวกหยาง ซึ่งใช้บำบัดอาการที่เกิดจากการมีหยินมากเกินไป เช่น มีอาการเย็นตามมือ และเท้า ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่ค่อยแข็งแรง ถ่ายเหลว ท้องร่วง ขี้หนาว ไม่กระฉับกระเฉง หากมีอาการดังกล่าวควรใช้สมุนไพรในกลุ่มนี้ประกอบในอาหารหรือชงเป็นชาดื่มเพื่อบำบัดอาการ
สมุนไพรจีนที่มีฤทธิ์ เย็น
สมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็นจัดเป็นพวกหยิน ซึ่งจะใช้อาการที่เกิดจากการมีหยางมากเกินไป เช่น ชีพจรเต้นเร็ว เหงื่อออกง่าย ดูลุกลี้ลุกลนอยู่ตลอดเวลา ลิ้นแดง และขี้ร้อน หากใช้สมุนไพรในกลุ่มนี้จะช่วยให้ร่างกายสมดุลดีขึ้น
สมุนไพรจีนที่มีฤทธิ์ เป็นกลาง
สมุนไพรที่มีฤทธิ์เป็นกลาง จัดเป็นพวกหยิน เช่นเดียวกับสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น จึงใช้บำบัดอาการที่เกิดจากการมีหยางมากเกินไป สมุนไพรในกลุ่มนี้จะช่วยปรับร่างกายให้สมดุลยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่เจ็บคอบ่อยๆ ท้องผูก ขี้หงุดหงิด คอแห้ง กระหายน้ำ หรือปัสสาวะมีสีเหลืองเข้ม
ขอบคุณที่มา : หนังสือ มหัศจรรย์ สมุนไพรจีน
อภินันทนาการ โดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด
ไท่อันถัง คลินิกการประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน
1095 หมู่บ้านสินทวี ซอยพระรามสอง ที่ 43
ถนนพระรามสอง แขวงจอมทอง
เขตบางมด กรุงเทพ
เปิดทำการทุกวัน
ตั้งแต่เวลา 09.00 - 17.00 น.
Quick Navigation
บริการของคลินิก